Monad มันเป็นแค่ pattern

Monad มันเป็นแค่ pattern

December 23, 2023 •

คำแนะนำ: บทความนี้จะใช้ code typescript อธิบายเป็นส่วนใหญ่ ใครไม่เคยเขียน FP จ๋า ๆ ก็อ่านได้

หลาย ๆ คน อาจจะเคยได้ยินกับ paradigm ตัวนึงซึ่งถือว่าได้รับความสนใจมาก ๆ อย่าง “Functional Programming” ที่ใช้หลักการ Immutable, Higher-order Function, Function Composition มีเขียนโค้ด high level ซึ่งถ้าคุณสนใจในตัว FP คุณก็คงลองศึกษาลงมาเรื่อย ๆ จนไปเจอกับสิ่งนึงที่คนในวงการนี้เขาพูดถึงบ่อยมาก ๆ แล้วเขาก็ชอบล้อว่ามันเป็นไอเดียที่ไม่มีใครเข้าใจมัน (แล้วถ้าคุณบอกว่าคุณเก็ต ส่วนใหญ่คือยังไม่เก็ต 555) ซึ่งไอเดียนั้นก็คือ Monad

What the hell is Monad

คุณอาจจะเคยเห็นมุกหรือ meme ที่คนเขาชอบพูดกันว่า “A monad is a monoid in the category of endofunctors, what’s the problem?” ที่อธิบาย Monad แบบง่าย ๆ แต่กลายเป็นว่ามันดูงงกว่าเดิมไปอีก อะไรคือ monoid, category, endofunctors? ซึ่งถ้าคุณไม่เคยอ่าน Category Theory มาก่อนคุณคงไม่รู้จักสักกะคำที่ว่ามา ซึ่งในบทความนี้ผมเลือกที่จะอธิบาย Monad โดยไม่ยุ่งกับ Category Theory หรือคำศัพท์ที่มาทั้งหมดเลยนอกจากตัว Monad ซึ่งผมจะอธิบายในมุมมองของ programmer นะ

(Easy) Definition of Monad in functional programming

ในโลกของ FP มันจะมี concept ของ Wrapper ที่เป็น type ที่มันหุ้ม (wrap) ค่าใด ๆ นึงอีกที

ถ้าพูดแบบเห็นภาพก็คือมันเป็นกล่องที่เอาไว้ใส่ของประเภทนึง ซึ่งเราสามารถเขียน Wrapper เป็น type ได้เป็นหน้าตาแบบนี้

Wrapper<T>; // A เป็น type อะไรก็ได้

ตัวอย่างของ Wrapper ในโลก JS/TS ที่เห็นได้ชัดก็คือ Array<T> และ Promise<T> ซึ่งเก็บค่า T เอาไว้ในตัว แค่ต่างกันที่ array เก็บ type เดียวกันได้หลายค่า ส่วน promise มันเก็บค่าเดียว

จะเห็นได้ว่าทั้ง ๆ ที่ array กับ promise เป็น wrapper เหมือนกัน แต่หน้าที่และความสามารถมันต่างกันโดยสิ้นเชิง จึงพูดได้ว่า Wrapper มันเป็น concept ที่กว้างและ generic มาก ๆ ซึ่งตัว Monad มันก็เหมือนกัน

โดยหัวใจหลักของ Monad เหนี่ยมันพูดถึงกลุ่มของ Wrapper จำนวนนึง ที่มี method/function/operation 2 ตัว ซึ่งก็คือ unit กับ bind ถ้า Wrapper ไหนมี function นี้ก็ถือว่าเป็น Monad แล้ว

1. Unit

นิยามของ unit จริง ๆ แล้วมันง่ายมาก ซึ่งก็คือ function ที่รับค่ามา แล้วหุ้มมันด้วย Wrapper ดังกล่าว (Wrapper ส่วนใหญ่ทำได้อยู่แล้ว จึงไม่ได้เป็นจุดสำคัญ)

// M<_> คือ Monad นะ
type unit = (v: T) => M<T>;

ปล. บางภาษา (Haskell) จะเรียกว่า return แต่ป้องกันการสับสนกับ keyword return ใน JS/TS ก็เลยเรียก unit แทน

2. Bind

จริง ๆ แล้ว ที่ว่ามาทั้งหมดเหนี่ย หัวใจหลักของ Monad มันก็คือ bind นี่แหละ ดังนั้นแนะนำว่าให้ทำความเข้าใจส่วนนี้เยอะ ๆ

นิยามของ Bind มันแอบ abstract นิดหน่อย ถ้าให้พูดง่าย ๆ มันคล้าย ๆ กับ method map ของ array ใน JS ที่แปลงค่าในตัว array เป็นอีกค่าตาม function ที่รับมา

type map<U> = (a: Array<T>, f: (t: T) => U) => Array<U>;

fun fact: ถ้า Wrapper ไหนมี function map แบบนี้ จะถือว่าเป็น Functor (ใช่แล้ว, functor ใน endofunctor คือไอนี่แหละ)

bind ก็คล้ายกันเลย ต่างกันแค่ว่าแทนที่ function f มันจะคืน U มา เราก็คืน M<U> มาแทน

type bind<U> = (a: M<T>, f: (t: T) => M<U>) => M<T>;

หรือมองอีกมุมนึง ด้วยความที่ f เป็น (t:T) => M<U>) ปกติแล้วถ้าเราจะใช้ map ผลลัพธ์ที่ได้ออกมาจะเป็น M<M<U>> แต่ bind เราเลือกที่จะลดความซ้ำซ้อนตรงนี้ เราเลยทำการ flatten มันให้เหลือแค่ M<U> พอ ทำให้ function bind มีอีกชื่อนึงคือ flatMap (เริ่มคุ้น ๆ แล้วใช่ปะ)

ดังนั้น ถ้า Wrapper ใหนมี function 2 ตัวนี้ มันก็จะนับว่าเป็น Monad โดยอัตโนมัติ

Example of Monad’s usage

จะเห็นได้เลยว่านิยามมันก็กว้างมาก จึงเป็นเหตุผลที่ผมจะบอกว่า Monad มันเป็นแค่ design pattern แบบนึง ซึ่ง pattern นี้มันใช้แก้ปัญหาหรือมี use case ที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เพื่อที่จะอธิบายส่วนนี้ ผมก็จะยก use case ที่เห็นได้บ่อย ๆ มาสองตัว ก็คือ Array กับ Maybe

1. Array and flatMap

อย่างที่แอบสปอยล์ไปข้างต้นว่า bind มีอีกชื่ือนึงก็คือ flatMap ซึ่งมันก็คือ flatMap เดียวกันกับใน array ของ JS นั่นแหละ ดังนั้นก็หมายความว่า array ก็เป็น monad ตัวนึง (และน่าจะเป็นตัวเดียว) ใน JS

โดยหน้าที่ของ bind/flatMap ใน array ก็คือการ flatten array ที่ได้มาจาก mapping function ให้กลายเป็น array ตัวเดียว

const a = [1, 2, 3];
const res = a.flatMap((x) => [x, x * x]);
console.log(res); // [ 1, 1, 2, 4, 3, 9 ]

ในส่วนของ array ผมอาจจะไม่ได้พูดถึงมาก เพราะหลาย ๆ คนน่าจะเคยใช้กันอยู่แล้ว แค่อาจจะบอกว่าไอที่เรา ใช้ ๆ กันอยู่เหนี่ยมันก็คือ Monad นั่นแหละ

2. Maybe and nothingness

Maybe<T> (หรือบางทีก็เรียก Option<T>) เป็นแนวคิดนึงที่ programmer ส่วนใหญ่อาจจะไม่เคยได้ยินเท่าไหร่ โดย concept มันก็คือการใช้ Wrapper มาเพื่อบอกว่าค่าที่ได้มาอาจจะเป็น “null” ได้

หลาย ๆ คนน่าจะเคยประสบพบเจอกับ bug ที่เกิดจากการที่ value ที่ได้มามันดันเป็น null โดยไม่รู้ตัวใช่ไหม? ไอปัญหานี้จริง ๆ แล้วมันใหญ่มาก ๆ จนคนสร้างภาษา ALGOL W ที่เป็นต้นน้ำของการใช้ null ถึงกับบอกเองว่า null เป็น “The Billion Dollar Mistake” เพราะไอบัค null reference นี่มันทำให้บริษัทหลาย ๆ ที่เสียหายรวมกันเป็นพันล้านได้ (ซึ่งตอนนี้ก็น่าจะเกินแล้ว 5555)

โอเค ในเมื่อ null มันไม่ดี แต่เราก็อยากที่ของสักอย่างที่เป็นตัวแทนของความไม่มี (nothingness) ทำให้มันมีคนคิดหลายไอเดียมาก ๆ ซึ่งไอเดียนึงที่ใช้กันเยอะในภาษา FP ก็คือ Maybe

ถ้าให้พูดง่าย ๆ Maybe มันเป็น Wrapper ที่เก็บค่าพร้อมกับ state เอาไว้ โดย state จะเป็นตัวบอกว่าจริง ๆ แล้วมันมีค่าจริง ๆ หรือเป็น Nothing (null) กันแน่

class Maybe<T> {
    value: T | null;
    valid: boolean;

    private constructor(value: T | null, valid: boolean) {
        this.value = value;
        this.valid = valid;
    }

    static unit<T>(value: T): Maybe<T> {
        return new Maybe(value, true);
    }

    static nothing<T>(): Maybe<T> {
        return new Maybe<T>(null, false);
    }

    bind<U>(f: (v: T) => Maybe<U>): Maybe<U> {
        if (this.valid) {
            return f(this.value!);
        } else {
            return Maybe.nothing();
        }
    }

    ...
}

ใน code ตัวนี้อาจจะไม่เห็นชัดเจนว่ามันดีกว่าการใช้ null ยังไง อันนี้แนะนำว่าลองไปอ่าน Option<T> ของ rust ดู สั้น ๆ ก็คือหัวใจหลักในภาษาที่ใช้ maybe คือมันจะมี mechanism ที่คอยบังคับให้เราต้องเช็คตลอดว่าของใน Maybe มันมีของอยู่จริง ๆ ไหม ต่างจากภาษาที่ใช้ null ที่ไม่ค่อยมี indicator มาบังคับ

ต่อมา usecase ของ bind ที่นี้คือ ถ้าตัวมันเป็น null มันจะไม่รัน function f เลย แล้วคืน nothing มาแทน ซึ่ง mechanism แบบนี้ทำให้เราสามารถเรียก function เป็นทอด ๆ ยาว ๆ ได้โดยไม่ต้องมานั่งเช็คระหว่างทางว่าเป็น null ไหม

Normal flow:

const a1 = f1(1);
if (a1 === null) {
    console.log("It's null!");
    return null;
}

const a2 = f2(a1);
if (a2 === null) {
    console.log("It's null!");
    return null;
}

const a3 = f3(a2);
if (a3 === null) {
    console.log("It's null!");
    return null;
}

return a3;

Maybe monad flow:

const a = Maybe.unit(1).bind(f1).bind(f2).bind(f3);

if (a.valid) {
    return a.value;
} else {
    console.log("It's null!");
    return Maybe.empty();
}

จะเห็นได้เลยว่า code แบบ ที่ใช้ maybe มันสั้นกว่ามาก ๆ จึงเป็นเหตุผลที่ Maybe มักจะทำเป็น monad

จากตัวอย่างทั้งสองตัว จะเห็นได้ว่า array และ maybe นั้นการใช้งานต่างกันสิ้นเชิง รวมไปถึง application ของ function bind ก็มีหน้าที่ที่ต่างกันมาก ๆ จึงเป็นเหตุผลที่ผมบอกว่า monad มันเป็น แค่ design pattern ซึ่งจริง ๆ แล้วก็เป็นข้อดีที่เราสามารถเอา pattern monad ไปใช้ที่อื่นได้เยอะ ๆ มาก ๆ เช่นกัน

ก็หวังว่าบทความนี้จะทำให้คนที่สนใจใน FP เข้าใจใน monad ได้สักที :)

Additional read (external):

อย่างที่บอกว่า monad มี use case เยอะ ก็เลยอยากจะเพิ่มตัวอย่างนิดหน่อย

  1. Result<T>: ในเมื่อเราทำ null ให้เป็น wrapper ได้ เราก็ทำให้ function มันคืน error ออกมาถ้ามีปัญหาแทนที่จะ throw แทนได้
  1. Haskell IO: ในเมื่อ Pure FP แบบ Haskell ไม่ยอมให้เกิด Side Effect ใน Logic แล้วถ้าเราอยากจะ mutate ของในโลกจริง ๆ แบบ terminal หรือ DB จะทำยังไงหล่ะ ก็สร้างโลกใบใหม่ + monad ไง (warning: ควรอ่านการเขียน type ใน haskell ได้เป็นอย่างน้อย แต่ถือว่าเปิดโลก FP เลย)
  1. Monad Tranformer: ถ้าเรามี monad หลาย ๆ ตัวมาใช้ด้วยกันแบบ Array<Maybe<T>> จะทำยังไงให้มันสวย ๆ นะ (warning: Scala ภาษาอ่านง่าย แต่ concept นี้ค่อนข้างยากยาก)

pkpt.dev_

All right reserved © by Pakin P.

Contact

LinkedIn

Github

[email protected]